เป็นผิวทางชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติเฉพาะคือ เป็นวัสดุที่มีความพรุนสูงจึงทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว น้ำไม่ขังขณะและหลังเกิดฝนตกโดยที่น้ำสามารถซึมผ่านลงไปใต้พื้นถนนได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลให้เป็นการเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ยวดยาน คือรถไม่ลื่นไถลขณะวิ่งด้วยความเร็วหรือเบรกกะทันหัน อีกทั้งยังเป็นการลดละอองน้ำที่กระเซ็นรบกวนยานพาหนะคันหลังที่วิ่งตามมาเป็นการเพิ่มความสามารถในการมองเห็นของผู้ขับขี่ส่งผลให้ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ทาง จุดเด่นของพอรัสแอสฟัลท์อีกประการ คือ การที่เนื้อวัสดุมีลักษณะพรุนนั้น จะช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับเสียงที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างยางรถยนต์และผิวทาง ซึ่งสามารถลดมลภาวะทางเสียงที่เกิดขึ้นต่อผู้อยู่อาศัยสองข้างทางอีกด้วย
ชื่อทางเทคนิคของถนนชนิดนี้คือ Open-Graded Friction Course(OGFC) การที่มีปริมาณรูพรุนค่อนข้างมากเกิดจากการใช้วัสดุมวลรวมขนาดใหญ่ในปริมาณมากโดยปกติจะใช้วัสดุที่ผ่านตะแกรงเบอร์ 8 ไม่เกิน 20% ทั้งนี้การผลิตพอรัสแอสฟัลท์ มีขั้นตอนไม่แตกต่างจากการผลิตแอสฟัลท์ทั่วไป ความแตกต่างที่สำคัญอย่างเดียวคือ การคัดขนาดมวลรวม(Gradation) อย่างไรก็ตามการใช้พอรัสแอสฟัลท์มีปัญหาอยู่หลายประการ ได้แก่ การลอก(Stripping) ภายใต้ผิวทางพอรัสแอสฟัลท์จากสาเหตุหลายกรณี เช่น ปริมาณน้ำจำนวนมากขังอยู่ส่วนล่างของผิวทางพอรัสแอสฟัลท์เป็นเวลานานปัญหาอีกอย่างคือ การอุดตันของรูพรุนของผิวทางพอรัสแอสฟัลท์ทำให้การระบายน้ำไม่ดีเท่าที่ควรจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาและขจัดสิ่งอุดตันในรูพรุน
มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นชั้นผิวทาง โดยการปูหรือเกลี่ยแต่งและบดทับบนชั้นรองผิวทาง(Binder Course) หรือชั้นผิวทางเดิมซึ่งน้ำซึมผ่านไม่ได้ ระดับความลาดและได้ทำการ Tack Coat ก่อนเสมอ